เศรษฐธรรม หลักปฏิบัติเพื่อความสุขและความมั่งคั่งที่ยั่งยืน

 “เศรษฐธรรม” เป็นงานเขียนที่เป็นไปในลักษณะของการเชื่อมโยงหลักพระพุทธศาสนาที่มีมากว่า ๒๕ ศตวรรษ

เข้ากับหลักเศรษฐศาสตร์ในบางแง่ที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติจริง

เกี่ยวเนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้รู้ตาม (สภาวะ) จริงที่มุ่งเน้นไปในทางปฏิบัติ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้อาจจะมีหลักทฤษฎีและข้อคิดทางเศรษฐศาสตร์มาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยไม่น้อย ทำให้บางครั้งต้องใช้ศัพท์เฉพาะ (เศรษฐศาสตร์) มาอธิบาย เพื่อไม่ให้ความหมายตกหล่นไปจากหลักการ

งานเขียนชิ้นนี้ผู้อ่านนอกจากจะได้เข้าใจในหลักพระพุทธศาสนา และได้รับความรู้ในทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันแล้ว ก็ยังได้รับอรรถรสในการอ่านเพิ่มขึ้นจากนิทานชาดกที่ได้หยิบยกมาประกอบการอธิบายขยายความ

โดยผู้เขียนพยายามที่จะใช้ภาษาให้ง่ายต่อการทำความเข้าถึงและเข้าใจในประเด็นต่างๆ ดังกล่าว เพื่อให้ก้าวข้ามพ้นผ่านนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติให้บรรลุสู่ความสุขและความมั่งคั่งที่ยั่งยืน ไม่ใช่เดี๋ยวจนเดี๋ยวรวยโดยฉับพลัน เพราะหากเป็นเช่นนั้นสภาวะจิตใจคงทนรับความเปลี่ยนแปลง (ฉับพลัน) ดังกล่าวไม่ไหว 

โดยเนื้อหาภายในเล่มมุ่งเน้นที่การนำเสนอให้รู้เท่าทันในกระบวนการบริโภค (ความต้องการ) และการผลิต (การสนองตอบ) ในฐานะที่เราเป็นทั้งผู้บริโภค (กิน-ใช้สินค้าและบริการ) และผู้ผลิต (การประกอบอาชีพ) ทั้งในทางตรง (เจ้าของกิจการ)

หรือทางอ้อม (แรงงาน) โดยการใช้ “ปัญญา” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับการดำเนินชีวิตในสังคมเศรษฐกิจ เมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติที่เริ่มมีแนวโน้มที่รุนแรงและถี่มากขึ้นในยุคปัจจุบัน

คำนิยม

งานเขียน “เศรษฐธรรม : หลักปฏิบัติเพื่อความสุขและความมั่งคั่งที่ยั่งยืน” เล่มนี้ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าอ่าน เหมาะสำหรับประชาชนโดยทั่วไปที่สนใจในการนำเอาหลักความคิดและองค์ความรู้ของศาสตร์ทั้งสองไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน   
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นตัวยาชั้นดีที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ท่านดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในทุกสภาวะที่ต้องเผชิญ

ดร. สมศักดิ์  รุ่งเรือง
อธิการบดีวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก

หนังสือ “เศรษฐธรรม : หลักปฏิบัติเพื่อความสุขและความมั่งคั่งที่ยั่งยืน” ของอาจารย์อภิชา ที่รักษ์ เป็นหนังสือที่มีคุณค่าและน่าอ่านอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเองมีความวิริยะอุตสาหะในการผสมผสานประเด็นเศรษฐศาสตร์เข้ากับหลักพระพุทธศาสนา
ในประเด็นที่ว่าด้วยตรรกะของการบริหารจัดการความต้องการเพื่อส่งผ่านไปสู่การดำเนินชีวิตให้มีความสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัชรี  มินระวงศ์
คณบดีคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก