ศาสนาและสงคราม

เพราะชีวิตมนุษย์จะดำเนินไปตามสัญชาตญาณของการเอาตัวรอดเท่านั้น

คนอ่อนแอและคนล้มเหลวจะหาที่อยู่ในสังคมได้ยากความจริงข้อนี้ทำให้สงสัยว่า ศาสนาและสงครามเป็นมิตรหรือศัตรูต่อกันนั้น ศาสนาใช้สงครามเป็นเครื่องมือป้องกันตัวเอง และ/หรือขยายศาสนจักร หรือสงครามใช้ศาสนาทำให้ความรุนแรงเป็นความชอบธรรมและถูกต้อง

อะไร คือหน้าที่ที่แท้จริงของศาสนา ? ศาสดาของศาสนาต่างๆ สนับสนุนส่งเสริมสงครามศาสนาหรือไม่ ? เมื่อสงครามเกิดขึ้น ในฐานะที่เราเป็น ศาสนิกชน เราควรจะเข้าร่วมสงครามหรือไม่ ? การฆ่าศัตรูในสงครามเป็น “บาป” หรือไม่ ? คำถามต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อสงสัยที่ศาสนิกชนต้องการคำตอบที่แน่นอน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหากับมโนธรรมของตน

ด้วยเหตุนี้ศาสนิกชนจึงจำเป็น ต้องศึกษาคำสอนในศาสนาที่นับถืออยู่ให้เข้าใจถ่องแท้และถูกต้อง เพื่อจะได้รู้แน่นอนว่าศาสนาที่ตนนับถืออยู่นั้นมีจุดยืนเกี่ยวกับสงคราม อย่างไร และจุดยืนนี้เหมือนหรือแตกต่างจากจุดยืนของศาสนาอื่น และ/หรือลัทธิการเมืองอย่างไร

ความรู้ความเข้าใจนี้จะช่วยให้   ศาสนิกชนวางตัวได้ถูกต้อง และไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่นำศาสนามาใช้เป็นเครื่องโฆษณาชวนเชื่อ ทำสิ่งไม่ดีหรือไม่ถูกต้องให้มีลักษณะตรงข้าม โดยหุ้มห่อด้วยอาภรณ์สวยงามของศาสนา  เช่นกล่าวว่า สงครามเป็นการนำ แสงสว่าง มาสู่ความมืดมิดของโลก หรือเป็นการปราบผีร้ายซาตาน/อธรรม หรือเป็นสงครามเพื่อพระเจ้า

หมายเหตุ

รองศาสตราจารย์ ดร.พินิจ รัตนกุล เป็นนักวิชาการระดับชาติและนานาชาติ จบการศึกษาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิชาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเยลประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชามนุษยศาสตร์ที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

เพื่อนำความรู้ทางมนุษยศาสตร์ไปผสมผสานกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และแพทย์ศาสตร์ให้เป็นความรู้ที่มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นพื้นฐาน นอกจากนั้นยังเป็นผู้นำในเรื่องการศึกษาศาสนาในเชิงวิชาการและในเชิงประยุกต์ โดยเป็นผู้จัดทำโปรแกรมศาสนาเปรียบเทียบระดับปริญญาโทที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

และเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยศาสนศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อบุกเบิกพรมแดนความรู้ทางศาสนาและจริยธรรมด้วยการส่งเสริมการ  ศึกษาศาสนาและจริยธรรมโดยใช้วิธีปรวิสัย (objective) และโดยการนำความรู้จากศาสตร์ต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์มาใช้ในการศึกษาดังกล่าว 

เพื่อให้ผู้ศึกษามีจิตใจกว้างและมีเหตุผลในเรื่องศาสนาและจริยธรรม พร้อมทั้งมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาและจริยธรรมกับศาสตร์ต่างๆ ในระดับนานาชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.พินิจ รัตนกุลได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิชาการคนสำคัญของประเทศเอเชียในการบุกเบิกการศึกษาและการวิจัยทาง  “ชีวจริยธรรม” (Bioethics)

โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเอเซียนชีวจริยธรรม (Asian Association of Bioethics) และวารสารของสมาคมชื่อ Asian Journal of Bioethics ผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับพุทธศาสนาและชีวจริยธรรมได้รับการตีพิมพ์ทั้งในรูปบทความและตำรา